การเรียนดำน้ำ SCUBA Diving

การเรียนดำน้ำแบบ SCUBA (Self Contained Underwater Breathing Apparatus) คือ การดำน้ำลึกโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจที่ติดกับตัวนักดำน้ำไป ทำให้สามารถดำน้ำได้โดยอิสระและเคลื่อนที่ไปมาใต้น้ำได้โดยไม่ติดกับสายอากาศที่เครื่องอัดอากาศบนผิวน้ำ

ผู้เริ่มดำน้ำใหม่ๆ มักจะมีความรู้สึกไม่เคยชินเกี่ยวกับอุปกรณ์ เช่น หน้ากาก ตีนกบ เสื้อชูชีพ ที่จะเทอะทะและมีน้ำหนักมาก แต่เมื่อลงไปในน้ำความรู้สึกนี้จะเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ความรู้สึกถึงความอิสระ ผ่อนคลาย และสุขสบายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน จะทำให้ผู้เริ่มดำน้ำเกิดความรู้สึกเหมือนก้าวเข้าไปสู่โลกใบใหม่ ซึ่งหลังจากนี้แล้ว ชีวิตและเจตคติของคนดำน้ำ จะไม่เหมือนเดิม

คนที่เข้ามาสู่การดำน้ำแล้วนั้น จะหาคำอธิบายให้กับตนเองได้ยากมาก ว่าอะไรทำให้เขาเข้ามาสู่โลกใหม่ใบนี้ และอะไรกันแน่ที่ทำให้เขารู้สึกว่าผูกพันและติดใจกับการดำน้ำ อาจจะเป็นเพราะว่าการดำน้ำนั้นตอบสนองหลายสิ่งหลายอย่างในใจของคนดำน้ำก็ได้ เช่น หากต้องการที่จะผจญภัย การดำน้ำก็มีซากเรือจมที่ลึกลับตื่นเต้นให้แสวงหาอยู่อย่างมากมาย หากต้องการชื่นชมธรรมชาติใต้น้ำ ก็มีแนวปะการังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสวยสดงดงามตระการตาให้ไปเที่ยวชม นักดำน้ำสามารถเห็นสิ่งมีชีวิตที่แนวปะการังเล็กๆ ที่เดียวได้มากมายหลายชนิด กว่าที่อาจต้องใช้เวลานับสิบชั่วโมงในป่าที่อุดมสมบูรณ์ หากต้องการท่องเที่ยวพบปะผู้คน ชีวิตในวงการดำน้ำก็จะทำให้นักดำน้ำสามารถทำเช่นนั้นได้โดยง่าย

สิ่งที่ดึงดูดใจผู้คนให้มาดำน้ำมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการค้นพบสิ่งใหม่ๆ การไปดำน้ำ จะทำให้นักดำน้ำได้พบเห็นสิ่งที่ผู้คนส่วนมากไม่เคยพบเห็น สามารถไปในสถานที่ที่ผู้คนส่วนมากไม่มีโอกาสได้ไป การไปดำน้ำในสถานที่ที่ใหม่และไม่คุ้นเคย จะทำให้นักดำน้ำเกิดความตื่นเต้นกับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ เสมอ ทั้งที่มีประสบการณ์ในการดำน้ำมานับร้อยครั้ง

ความท้าทายและความสงบนิ่ง ซึ่งแม้จะขัดแย้งกันอยู่ในที ก็เป็นปัจจัยสองสิ่งที่ทำให้คนสนใจและติดใจการดำน้ำ การดำน้ำนั้นจะทำให้รู้สึกท้าทายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำชมธรรมชาติสบายๆ ดำน้ำกลางคืน หรือดำน้ำหาของหายใต้ความลึกมากๆ ก็ทำให้นักดำน้ำเกิดความรู้สึกท้าทายได้ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อดำน้ำไปแล้ว ไม่ว่าในสภาพไหน นักดำน้ำที่มีประสบการณ์จะรู้สึกผ่อนคลายและสุขสงบ รู้สึกถึงความนิ่งของโลกใต้น้ำได้อย่างชัดเจน ความรู้สึกท้าทายและสงบนิ่งในเวลาเดียวกันนี้ เป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมอย่างอื่น

ผู้คนทั่วไปอาจจะเคยเห็นรูปภาพหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับการดำน้ำ ซึ่งก็ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นน่าสนุกสนานในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเทียบได้เลยกับการได้ลงมือดำน้ำอย่างจริงจัง คนทั่วไปไม่มีทางจะเข้าใจได้เลยว่าการดำน้ำเป็นอย่างไร นอกเสียจากได้ลงมือดำน้ำด้วยตนเอง ไม่มีความรู้สึกใดๆ จะเทียบเท่าได้กับประสบการณ์การดำน้ำ ความตื่นเต้นที่ได้หายใจในน้ำ ความเป็นอิสระจากแรงโน้มถ่วง สภาพไร้น้ำหนัก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของการดำน้ำที่ไม่มีกิจกรรมนันทนาการใดๆ สามารถเทียบเทียมได้

เนื่องจากการไปดำน้ำนั้น ถึงแม้จะมีสถิติของความปลอดภัยอยู่ในระดับสูงมาก แต่การจะหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากการดำน้ำนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการเรียนรู้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีคำกล่าวกันไว้ว่า การดำน้ำที่ปลอดภัยได้ถึงขนาดนี้ (สถิติการบาดเจ็บน้อยกว่าการเล่นโบว์ลิ่ง) อาจเป็นเพราะคนที่จะดำน้ำจำเป็นต้องเรียนอย่างเป็นระบบจนกระทั่งมีประกาศนียบัตร หรือบัตรอนุญาตให้ดำน้ำนั่นเอง

ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตจะแสดงให้เห็นว่า ผู้ได้รับได้จบหลักสูตรการดำน้ำ ตามมาตรฐานที่สถาบันดำน้ำได้กำหนดโดยครบถ้วนแล้ว ทางร้านดำน้ำหรือรีสอร์ทที่ให้เช่าและขายอุปกรณ์การดำน้ำ เติมอากาศในถังดำน้ำ หรือจัดกิจกรรมดำน้ำ จะให้การต้อนรับและให้บริการแก่บุคคลเหล่านี้

ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักดำน้ำต้องมี ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถเข้ารับบริการใดๆ เกี่ยวกับการดำน้ำได้เลย สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่ไม่ได้ผ่านหลักสูตรการเรียนดำน้ำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว โอกาสเกิดอันตราย บาดเจ็บ จะมีได้สูงมากจนน่าตกใจ คนจำนวนมากได้รับประสบการณ์เลวร้าย บาดเจ็บ หรือพิการ เพราะการไปดำน้ำโดยไม่ผ่านการเรียนที่ได้มาตรฐานมาเป็นจำนวนมากแล้ว

คุณสมบัติทั่วไป ของผู้ที่จะเรียนดำน้ำ

  • อายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี
  • มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรงที่ขัดต่อการดำน้ำ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ โรคปอด หอบ หืด ฯลฯ โดยที่บางโรค หากเป็น สามารถขอใบรับรองแพทย์และหากแพทย์อนุญาตก็สามารถเรียนได้
  • ว่ายน้ำพอได้ อาจจะว่ายโดยใช้อุปกรณ์ หน้ากาก และท่อหายใจช่วยก็ได้ โดยทั่วไป มาตรฐานของการว่ายน้ำ ก็คือ สามารถว่ายน้ำได้ 200 เมตรด้วยตัวเปล่า (หรือ 300 เมตรด้วยการใช้หน้ากาก สนอร์เกิ้ล และตีนกบ)

สายตาสั้นเรียนได้ไหม

ผู้มีสายตาสั้นสามารถเลือกได้หลายทาง เช่น ใช้คอนแทคเลนส์ใส่ไว้ก่อนการใส่หน้ากากดำน้ำ ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องน้ำท่วมหน้ากากและสูญเสียเลนส์ไป หรืออาจเลือกการใช้หน้ากากที่มีเลนส์สายตาติดมาด้วยเลย ซึ่งอาจจะสะดวกสบายกว่า แต่อาจมองไม่เห็นชัดเวลาถอดหน้ากากดำน้ำออกมา

ว่ายน้ำไม่เป็นเรียนได้ไหม

ผู้ว่ายน้ำไม่เป็นควรหัดว่ายน้ำให้เป็นเสียก่อน แต่มีวิธีการที่ง่ายกว่านั้น เช่น การหัดว่ายน้ำด้วยหน้ากาก สนอร์เกิ้ล และฟิน ซึ่งจะง่ายกว่าการว่ายน้ำด้วยตัวเปล่าหลายเท่า อย่างไรก็ดี ผู้จะเรียนดำน้ำต้องสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะการอยู่ในน้ำอยู่ดี

มีโรคประจำตัวเรียนได้ไหม

บางโรคเรียนได้ ไม่มีปัญหา บางโรคต้องปรึกษาแพทย์ก่อน บางโรคอาจจะเรียนไม่ได้เลย เช่น โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด ลมชัก ฯลฯ

คำอธิบายหลักสูตร

หลักสูตรการเรียนดำน้ำด้วยเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ ประกอบด้วย ภาคทฤษฏีเกี่ยวกับการดำน้ำ การวางแผนการดำน้ำ การจัดการกับอุปกรณ์ดำน้ำ การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำน้ำ โลกใต้ทะเล การบาดเจ็บและการปฐมพยาบาลการบาดเจ็บจากการดำน้ำ ทักษะการดำน้ำ ทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการดำน้ำ

หลักสูตรการเรียนดำน้ำ

โครงสร้างของหลักสูตรนักดำน้ำขั้นต้น (Open Water Diver Course)

ประกอบด้วยการเรียนสามส่วนใหญ่ๆ คือ การเรียนรู้ทักษะในสระว่ายน้ำ การเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน และการฝึกภาคทะเล โดยแต่ละส่วนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกัน เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการดำน้ำจริงในธรรมชาติได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย

  • การเรียนในสระ จะเป็นการนำเอาหลักสำคัญของการดำน้ำมาใช้ นักเรียนจะเรียนรู้วิธีการ และทักษะที่สำคัญในการดำน้ำ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้สอน การฝึกในสระนี้จะมีอยู่ 5 บทด้วยกัน ซึ่งจะสอดคล้องกับการเรียนภาคทฤษฎีที่มีอยู่ 5 บท เช่นกัน
  • การเรียนภาคทฤษฎี ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องหลักการและความรู้พื้นฐานที่นักดำน้ำทุกคนต้องทราบ เพื่อการดำน้ำอย่างสนุกและปลอดภัย โดยแบ่งออกเป็น 5 บท
  • การฝึกภาคทะเล เป็นขั้นสุดท้ายสำหรับหลักสูตรนักดำน้ำขั้นต้น เป็นการนำเอาความรู้ จากภาคทฤษฏี ทักษะจากการฝึกในสระ ไปประยุกต์ใช้ในทะเลจริง ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่สนุกสนานและท้าทายที่สุดของนักเรียนดำน้ำ เมื่อจบภาคทะเลแล้ว นักเรียน จึงกลายเป็น นักดำน้ำ อย่างเต็มตัว

จุดมุ่งหมายของหลักสูตร

  • เพื่อให้นักเรียนดำน้ำสามารถที่จะดำน้ำกับคู่ดำน้ำได้เองอย่างอิสระ โดยใช้พื้นฐานความรู้ ทางวิชาการและทักษะใต้น้ำมาประยุกต์ใช้ ภายใต้ขีดจำกัดที่ตนเองได้เรียนมา
  • เพื่อให้นักเรียนดำน้ำสามารถที่จะวางแผนการดำน้ำได้เอง
  • เพื่อให้นักเรียนดำน้ำมีพื้นฐานที่ดี พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่หลักสูตรต่อเนื่องต่างๆ ในระดับสูงขึ้นไป

รายละเอียดของหลักสูตร

  • ฟิสิกส์
  • สรีรวิทยาเกี่ยวกับการดำน้ำ
  • อุปกรณ์ดำน้ำ
  • สุขภาพ, โรคที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ
  • การวางแผนการดำน้ำ ด้วยตารางดำน้ำ
  • การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อดำน้ำ
  • ทักษะที่ต้องใช้ในการดำน้ำ

วิธีการเรียน

  • การดูวิดิทัศน์
  • การบรรยาย
  • การสาธิต
  • การฝึกปฏิบัติ

กำหนดการเรียน

  • คาบ 1 ปฐมนิเทศ ทฤษฎีบทที่ 1
  • คาบ 2 ทฤษฎีบทที่ 2
  • คาบ 3 ทฤษฎีบทที่ 3
  • คาบ 4 ทฤษฎีบทที่ 4
  • คาบ 5 ทฤษฎีบทที่ 5 และสอบภาคทฤษฎี
  • คาบ 6 ทดสอบการว่ายน้ำระยะทาง 200 เมตรอย่างต่อเนื่อง ไม่มีเครื่องช่วย ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดท่า หรือระยะทาง 300 เมตรด้วยการใช้หน้ากาก ท่อหายใจ และตีนกบ ทดสอบการลอยตัว ที่ผิวน้ำเป็นเวลา 10 นาที โดยไม่มีเครื่องช่วย การประกอบอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ การหายใจใต้น้ำ การค้นหาเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ การไล่น้ำออกจากหน้ากาก การเคลื่อนไหวใต้น้ำ การปรับความดันโพรงอากาศในร่างกาย สัญญาณมือ การใช้แหล่งอากาศสำรองของคู่ดำน้ำ
  • คาบ 7 การตรวจสอบความปลอดภัยก่อนการดำน้ำ การลงสู่น้ำ การไล่น้ำออกจากท่อหายใจ การเปลี่ยนท่อหายใจใต้น้ำ การว่ายน้ำที่ผิวน้ำ การถอดหน้ากากดำน้ำ และใส่กลับคืน ฝึกถอดสายเติมลมใต้น้ำ การหายใจ โดยปราศจากหน้ากาก การเติมลมเข้าเสื้อชูชีพ ด้วยวิธีการเป่าธรรมดา การหาน้ำหนักตะกั่วที่พอดีกับน้ำหนักตัว การถอดเข็มขัดตะกั่วที่ผิวน้ำ การขึ้นจากน้ำ
  • คาบ 8 การควบคุมการลอยตัวขณะอยู่ใต้น้ำ การว่ายน้ำขณะอยู่ใต้น้ำ การแก้ไขอาการตะคริวใต้น้ำ การช่วยเหลือเพื่อนนักดำน้ำที่เหนื่อย การใช้เครื่องช่วยหายใจสำรองของคู่ดำน้ำ การหายใจจากเครื่องช่วยหายใจที่เสียใต้น้ำ การควบคุมการขึ้นสู่ผิวน้ำแบบฉุกเฉิน เมื่ออากาศหมด
  • คาบ 9 การว่ายน้ำปราศจากหน้ากาก การควบคุมการลอยตัว การใช้เครื่องช่วยหายใจ ตัวเดียวกันของคู่ดำน้ำ (อาจจะเรียนหรือไม่ก็ได้) การถอดและใส่กลับคืนของชุดอุปกรณ์ เข็มขัดตะกั่วบนผิวน้ำและใต้น้ำ
  • คาบ 10 ฝึกภาคทะเลครั้งที่ 1
  • คาบ 11 ฝึกภาคทะเลครั้งที่ 2
  • คาบ 12 ฝึกภาคทะเลครั้งที่ 3
  • คาบ 13 ฝึกภาคทะเลครั้งที่ 4

ปัจจุบัน หลักสูตรดำน้ำดังกล่าว ซี่งเป็นของสถาบัน PADI (Professional Association of Diving Instuctors) ซึ่งเป็นสถาบันดำน้ำที่มีขนาดที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก ได้ถูกนำมาสอนเป็นหลักสูตรเรียนดำน้ำของภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นิสิตที่ลงเรียนในหลักสูตรนี้จะได้เรียนภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสระ โดยสามารถ เรียนภาคทะเลและได้รับประกาศนียบัตรดำน้ำได้ด้วยการออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

หลักสูตรเรียนดำน้ำในขั้นสูง

เมื่อจบเป็นนักดำน้ำขั้นต้นแล้ว นักดำน้ำจำนวนมากมีความประสงค์ที่จะขยายขีดจำกัดของการดำน้ำให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการเรียนต่อในขั้นสูงขึ้นต่อไป โดยสามารถเรียนไปเรื่อยๆ จนเป็นผู้สอนดำน้ำได้จากการเรียนต่อเนื่องนี้

หลักสูตรดำน้ำมีหลายหลักสูตรดังนี้

เมื่อเรียนจบหลักสูตรนักดำน้ำกู้ภัยแล้ว นักดำน้ำสามารถเลือกทางเรียนต่อได้สองทาง

  • ทางแรก คือ เรียนการดำน้ำแบบพิเศษซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายอย่าง เช่น นักดำน้ำลึก นักดำน้ำในเรือจม ดำน้ำกลางคืน ดำน้ำในกระแสน้ำ ฯลฯ อีก 5 สาขา จะทำให้นักดำน้ำจบเป็น Master Scuba Diver ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการเป็นนักดำน้ำแบบนันทนาการ
  • ทางที่สอง คือ เรียนหลักสูตรการเป็นผู้ควบคุมการดำน้ำ (Divemaster) ซึ่งจะทำให้สามารถไปเรียนต่อเป็นผู้สอนดำน้ำได้ต่อไป
เขียนโดยดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
เผยแพร่ครั้งแรกก่อน 2 ต.ค. 2550