Role Model ที่นักดำน้ำรุ่นพี่ควรทำให้เด็กๆ ดู

สิ่งที่นักดำน้ำระดับ Divemaster หลายๆคนมักจะถูกครูสอนดำน้ำพูดกรอกหูให้ฟังอยู่เป็นประจำก็คือ ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำน้ำ หรือการทำตัวเป็น role model ให้น้องนักดำน้ำรุ่นใหม่ทำตาม แล้ว role model ที่ว่านั่นมันคืออิหยังวะ? ทำยังไงถึงจะเป็นต้นแบบดีๆ ได้ อันที่จริง ถ้าจะให้เหลาทั้งหมดก็คงต้องจับเข่าคุยกันทั้งคืน เอาเป็นว่า ทำให้ได้ซักข้อสองข้อตามลิสต์ด้านล่างนี้ก็พอแล้วล่ะ

  1. ติด Snorkel ไว้กับหน้ากากทุกครั้งที่ดำน้ำ
    แม้ว่าสิ่งนี้มันจะทำให้เราดูไม่คูลไปบ้าง แต่มันจัดเป็นอุปกรณ์มาตรฐานชิ้นหนึ่งของ scuba เลยทีเดียว ในเวลาคับขันที่อากาศในถังหมด (บนผิวน้ำ) snorkel จะกลายเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตเราได้เลย role model ที่ดีควรติด snorkel ไว้ในตำแหน่งซ้ายมือของหน้ากากให้คุ้นชิน หากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาเราก็ยังอุ่นใจมากกว่าไม่มีอะไรเลย เหลือก็ดีกว่าขาดแหละ จริงไม๊
    …………………..
    ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่โชคไม่ดี คลื่นลมแรงพัดนักดำน้ำไปไกล เกิดพายุฝนฟ้ากระหน่ำ เรือมองเราไม่เห็น พลัดหลงกันไป ต้องลอยคอเท้งเต้งกลางทะเลนานนับชั่วโมง ท่ามกลางคลื่นลมพายุฝน เราจะอาศัยบุญเก่าจากอากาศที่เหลือในแทงก์คงใช้ได้ไม่นานก็หมด แต่ในเวลาคับขันเช่นนี้ snorkel สามารถช่วยท่านได้
    …………………..
    หรืออย่างน้อยก็เอาไว้ใช้ตอนเริ่มต้นไดฟ เพื่อหายใจว่ายบนผิวน้ำไปยังจุดดำน้ำ หรือเอาไว้หายใจบนผิวน้ำระหว่างรอนักดำน้ำคนอื่นลงมาครบ มันก็ช่วยประหยัดอากาศได้เยอะเลย ตอนท้ายไดฟเราจะมีอากาศเหลือมากกว่าใครๆ เป็นที่พึ่งพาของสาวๆ ได้ หล่อไปอีก
    …………………..
  2. ใส่หน้ากากตลอดเวลาที่ดำน้ำจนกว่าจะกลับขึ้นเรือ
    แต่ถ้าคิดว่ามันทำให้สาวๆ มองเห็นหน้าเราไม่ชัด ก็ต้องห้อยคอไว้เสมอ! อย่าเอาแปะไว้ที่หน้าผากเด็ดขาด วันไหนซวยหน้ากากตกน้ำหายไปไม่รู้ตัว นอกจากเสียเงินซื้อหน้ากากใหม่แล้วยังเสียหน้าอีกด้วย นี่เตือนแล้วนะ (ทำเสียงแบบเชฟป้อม) ตอนที่เราเป็นนร. Open Water ครูมักพูดเสมอว่า “ให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในน้ำ หากไม่ต้องการใส่ ให้คล้องคอไว้ อย่าเอาคาดหน้าผาก” เพราะนอกจากจะช่วยให้ไม่ให้หน้ากากหล่นน้ำหายไปแล้ว ในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ คลื่นสูงจนซัดน้ำทะเลเข้าหน้าเข้าตาในเวลาที่เราต้องอยู่บนผิวน้ำ การใส่หน้ากากจะช่วยไม่ให้เราสำลักน้ำจนน้ำมูกไหลย้อย เสียลุค role model หมด
    …………………..
  3. Predive Safety Check
    ยังจำตอนที่เรียนดำน้ำครั้งแรกได้ไหม ครูจะให้เราท่องประโยคสั้นๆ แต่จำยากๆ ว่า Begin With Review And Friend พร้อมกับการตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ดำน้ำก่อนที่ลงดำน้ำในทุกๆไดฟ ซึ่งส่วนใหญ่หลังเรียนจบก็แทบไม่เห็นใครทำกันเลย นักดำน้ำมักจะมองข้ามเรื่องนี้ไปเพราะเห็นว่ามีน้องๆ สตาฟเรือที่น่ารักช่วยจัดการดูแลทุกอย่างให้เราหมดแล้ว แต่นั่นมันผิดถนัดเลยล่ะ เพราะมันสำคัญกับชีวิตของเรามากๆ เลยนะ เอาล่ะ มาย้อนความทรงจำไปพร้อมกันดีกว่า

    Begin – BCD
    ให้ตรวจเช็คสภาพความพร้อมของ BCD ดังนี้
    – เช็คว่าต่อสาย low pressure hose เข้ากับท่อเรียบร้อย เวลาดึงสายต้องแน่นไม่หลุดออกง่ายๆ
    – เติมลมเข้าให้เต็มเสื้อจนดัมพ์วาล์วทำงาน เพื่อเช็คว่าดัมพ์วาล์วยังเวิร์ก
    – ลองฟังเสียงลมว่ารั่วไหม บีบๆจับๆตัวเสื้อดูทั่วๆว่ามีรูรั่วรึเปล่า
    – หากไม่มีปัญหาลมรั่ว ก็ลองปล่อยลมดู โดยกดปุ่ม deflator (มักจะอยู่ด้านบนหรือด้านข้างของปลายท่อบนบ่าขวา) และปล่อยลมโดยใช้ dump valve ถ้าเป็นเสื้อรุ่นแจ็กเก็ตมักจะมีดัมพ์วาล์วสองที่ คือ บ่าขวา และชายเสื้อด้านขวาล่าง (ข้างๆแก้มก้นด้านขวา) ยิ่งถ้าเป็น BCD ที่เช่ามา ยิ่งต้องสำรวจให้ละเอียดและทำความคุ้นเคยให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว ควรรู้ว่าปุ่มอะไรอยู่ตรงไหน เติมลมใช้ปุ่มไหน ปล่อยลมใช้ปุ่มไหน จะได้ไม่โป๊ะใต้น้ำ
    – เสร็จแล้วก็ลองหมุนมาดูด้านหลังบริเวณสายรัดแทงก์ ให้เช็คว่าสายรัดแน่นหนาดีแล้ว คล้องสาย BCD ไว้ที่คอแทงก์เรียบร้อย หรือหากมีกำลังมากพอก็อาจจะลองหิ้ว BCD ขึ้นลงซัก 1-2 ครั้งให้แน่ใจว่าถังไม่ลื่นหรือเลื่อนหลุดออกง่ายเกินไป
    – จบขั้นตอนนี้ก็ให้เติมลมเข้าเสื้อเอาไว้พอประมาณ กะๆเอาแค่ 1/3 ของเสื้อก็พอ เพื่อเวลา giant strike ลงน้ำแล้วจะได้ลอยได้พอดีๆ ไม่จมดิ่งลงไปเลย
    …………………..
    With – Weight  เช็คตะกั่ว!!
    อันนี้ง่ายมากๆ แต่บอกเลยว่า เป็นสิ่งที่นักดำน้ำส่วนใหญ่ลืมมากเป็นอันดับหนึ่งเลยแหละ และหากลืมขึ้นมาจริงๆล่ะก็ จะเสียเวลาชีวิตมากเลยนะ บางทีปล่อยลมลงน้ำแล้ว เพิ่งรู้ตัวว่าลืม (หรือส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ตัวจนกระทั่งครูบอก) จากนั้นก็ต้องขึ้นมาลอยคอตะโกนเรียกเรือ เรือก็ต้องวนเอาตะกั่วมาให้ แล้วไอ้การใส่เข็มขัดตะกั่วบนผิวน้ำก็เป็นสกิลที่ทุลักทุเลไม่ใช่น้อย เฮ้อออออ แค่ฟังก็เหนื่อยแทน เพราะฉะนั้น การเช็คก่อนคือดีที่สุดล่ะแกร…………………..
    …………………..
    Review – Release
      เช็คตัวล็อกตั่งต่างบนเสื้อ BCD ทั้ง buckle บนพุงพลุ้ยน้อยๆ strap ข้างบ่าซ้ายขวา พร้อมปรับให้กระชับ (อย่าให้ถึงกับแน่นจนหายใจไม่ออกล่ะ)…………………..
    …………………..
    And – Air
      เช็คอากาศ ให้ทำตามนี้จ้ะ
    – ก่อนอื่นเลยก็ต้องเช็คว่าเปิดถังแล้วหรือยัง เมื่อเปิดถังจนสุดแล้วก็ให้บิดวาวล์ปิดกลับครึ่งรอบ
    – เช็ค gauge pressure ควรมีอากาศ 200 bar (+10-20 bar) ถ้ามีน้อยเกินไปก็ขอเปลี่ยนถังใหม่จากพี่ๆสตาฟได้จ้ะ
    – ลองกดปุ่ม purge button ที่ second stage หรือ octopus เบาๆ พร้อมๆกับสังเกตุเข็มบนหน้าปัดของ gauge pressure ว่า ระหว่างที่กดปุ่มเข็มควรจะต้องอยู่นิ่งๆไม่ขยับ หากเข็มตกลงไปที่ตำแหน่ง 0 bar หมายความว่า ถังปิดอยู่ ให้ย้อนกลับไปเปิดแทงก์ใหม่ตามขั้นตอนแรก แต่หากเข็มกระดิกหรือเข็มตกลงมาเล็กน้อยแล้วเด้งกลับมาที่เดิม หมายความว่า ถังเปิดน้อยเกินไป หากเราลงไปหายใจใต้น้ำโดยที่ถังเปิดน้อยเกินไป มันจะให้ความรู้สึกเหมือนถังจ่ายอากาศได้ไม่สุด หายใจไม่เต็มปอด ในภาวะนี้อาจทำให้เรา panic ใต้น้ำได้เลยทีเดียว ถ้าพบว่าถังเราเปิดน้อยไปก็ให้ลองกลับไปเปิดใหม่ตามขั้นตอนแรก
    – จากนั้นก็ให้ลองเช็ค second stage โดยการกดปุ่ม purge button เบาๆ แล้วปล่อย เสร็จแล้วก็ฟังเสียงว่ามีเสียงลมรั่วออกจาก second stage หรือไม่ หากมีก็แก้ไขหรือแจ้งครูก็ได้ (หรือหากแก้ไม่ได้ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น regulator ชุดใหม่ก็ควรทำ) ต่อมาก็ให้ลองคาบ second stage แล้วหายใจทางปากว่าสามารถหายใจได้ปกติหรือไม่ ใน regulator บางรุ่นจะมีปุ่มปรับการจ่ายอากาศอยู่ที่ second stage ด้วย ก็ให้ลองปรับให้เราหายใจได้สบายที่สุด หากรู้สึกไม่โอเคก็แก้ไข (หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นใหม่)
    – เช็ค alternate air source (octopus) เป็นลำดับถัดไป ให้เช็คเหมือนๆกับที่เราเช็ค second stage นั่นแหละ แล้วพอเช็ค octopus เรียบร้อยก็เก็บสายเข้าที่ให้เรียบร้อย โดยให้อยู่ในตำแหน่ง “สามเหลี่ยมชายโครง” (วัดมุมจากคางและชายโครงซ้าย-ขวา) และดูให้แน่ใจว่า หากเราต้องแชร์อากาศให้บัดดี้ในยามฉุกเฉินเราจะสามารถปลด octopus ออกมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย…………………..
    …………………..
    Friend – Final OK
      อันนี้หมายความรวมๆว่า ให้เช็คความเรียบร้อยของอุปกรณ์ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง จัดเก็บสายต่างๆให้เข้าที่เข้าทางไม่ห้อยรุงรัง แล้วก็เช็คอุปกรณ์อื่นๆให้ครบ เช่น SMB, เข็มทิศ, ไดฟคอมพิวเตอร์, กล้องถ่ายรูป เป็นต้น ไม่ใช่ว่า กระโดดลงไปอยู่ในน้ำแล้วตะโกนขึ้นมาบอกลูกเรือว่า “หยิบไดฟคอมให้หนูทีค่ะ ซุกอยู่ใต้หมอนในห้องนอน” แบบนี้ไม่เอานะ อย่านะคะๆ
    …………………..
  4. มีใจอนุรักษ์ ใช่ค่ะ ขอแค่ใจก็พอ อาจจะแสดงออกหรือไม่ก็ได้ ซึ่งจริงๆแล้วนักดำน้ำตัวเล็กๆอย่างเราสามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เยอะมากๆ เลยนะ เช่น ไม่ทิ้งขยะลงทะเล, ไม่ให้อาหารปลา, ไม่จับปะการัง, ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง, ช่วยเก็บขยะที่เจอใต้น้ำ และอื่นๆอีกมากมาย ขอแค่เรามีใจรักษ์ทะเล แค่นี้ก็นับว่าเป็น role model ในสายตาดำน้ำหน้าใหม่แล้วแล้วล่ะ

บางคนอาจจะเข้าใจว่า role model นี่ต้องดำน้ำเก่ง ดำน้ำดี การลอยตัวเป็นเลิศ แต่จริงๆ แล้ว role model นี่มันเหมือนเป็นบุคลิกในการดำน้ำมากกว่า รู้ว่าดีแต่ไม่ได้ทำ ความรักก็เช่นกัน รู้ว่ามีแต่ไม่เคยเจอ เฮ้อ…จบเหอะ

เขียนโดยprettypok
เผยแพร่ครั้งแรก4 มิ.ย. 64