ก่อนที่จะเริ่มต้นอ่านต่อไป ขอให้ผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจอย่างดีก่อนนะว่า พอดีฉันได้มีโอกาสไปอ่านบทความนี้ เห็นว่าน่าสนใจและคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ นักดำน้ำทุกคน อย่างไรก็ดีขอให้ใช้วิจารณญาณและประสบการณ์ดำน้ำแต่ละคน ตัดสินใจหรือถามจากผู้รู้ท่านอื่น ขอทำความเข้าใจอีกนิดว่าฉันไม่ได้แปลบทความมาให้อ่าน แต่ขอสรุปและเรียบเรียงตามความเข้าใจของฉันเอง และก็ด้วยภาษาของตัวเองแบบเล่าสู่กันฟัง ถ้าคุณผู้อ่านสนใจที่จะอ่านต่อไป ก็ให้เข้าใจสองข้อนี้ไว้ในขณะที่อ่านบทความต่อไปนี้
ขอเริ่มต้นกล่าวถึงผู้เขียน นาย Richard L. Pyle ก่อนว่า เขาเป็นนักวิจัยปลา ต้องลงไปเก็บตัวอย่างปลาที่ความลึกต่างๆ ลึกสุดก็ช่วง 180-220 ฟุตหรือประมาณ 36-66 เมตร ลงบ่อยจนนับจำนวนไดฟ์ไม่ถ้วนแล้ว และเริ่มสังเกตถึงอาการป่วยเหมือนๆ กันที่เกิดหลังดำน้ำ คือหลังจากไดฟ์ก็จะเริ่มรู้สึกเหนื่อยหรือคลื่นเหียนวิงเวียนศีรษะ และก็เห็นได้ชัดว่า อาการหลังดำน้ำพวกนี้เกิดจากการที่มี Nitrogen สะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป เพราะอาการพวกนี้จะเป็นหนักจากไดฟ์ที่ลงไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมงที่ความลึก 200 ฟุตหรือ 60 เมตร มากกว่าที่จะเป็นในไดฟ์ที่ลงนานถึง 4-6 ชั่วโมงแต่ตื้นๆ
สิ่งที่น่าสนใจและน่าปวดหัวก็คือ อาการนี้ไม่ได้เกิดสม่ำเสมอทุกไดฟ์ บางครั้งก็ไม่มีอาการอะไรเลย บางครั้งเพลียจนขับรถกลับบ้านหลังดำน้ำไม่ได้ และด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ นาย Richard ก็พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างไดฟ์ที่มีอาการป่วยหนักๆ กับทุกการกระทำ ตั้งแต่ก่อนดำน้ำ จนหัวจมน้ำ คือคิดตั้งแต่ อุณหภูมิใต้น้ำ, คลื่นที่ผิวน้ำ, อาการขาดน้ำ, การอดหลับอดนอนก่อนการดำน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ไม่มีอะไรที่สามารถบอกผลได้แน่ชัด สุดท้ายก็ได้คำตอบ ว่า …………เป็นเพราะ……..ปลา !!!! แล้วมันเกี่ยวกันยังไง
สรุปคือ ไดฟ์ไหนที่ลงไปแล้วจับปลาและนำปลาขึ้นมาได้ ไดฟ์นั้นแทบจะไม่มีอาการป่วยอะไรเลย แต่ไดฟ์ไหนที่จับปลาไม่ได้ก็จะมีอาการป่วยเกิดขึ้น
ปอดของปลา กับอากาศในร่างกายของเรา
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วทุกคนคงจะคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร? มันไปเกี่ยวกับการจับปลาได้ไง คนเขียนนี่ต้องมั่วสรุปแน่เลย จับปลานะ (ไม่ใช่ตกปลา) เขาต้องไปว่ายไล่จับปลาซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ลงไปจับปลานี่ต้องออกแรงและซดอากาศ เป็นการอัดไนโตรเจนเข้าร่างกายแน่นอน ข้อนี้เราน่าจะรู้กัน แต่ที่ทุกคนไม่รู้คือ เวลานำปลาขึ้นมาจากความลึก นาย Richard ต้องหยุดบ่อยๆ เพื่อคอยเอาเข็มแทงเข้าไปที่ปอดปลาเพื่อลดความดันในตัวปลา (เดี๋ยวปลาปอดแตก…ตาย) เพราะตัวอย่างปลาที่ต้องการ คือ ปลาเป็นๆ ไม่ใช่ปลาตาย ซึ่งการหยุดเพื่อที่จะเจาะถุงลมปลาก็จะหยุดที่ระดับลึกกว่าการบังคับพักน้ำขั้นแรกของการดำแบบติด Decompression (หรือการดำแบบมีการหยุดเพื่อลดแรงกดดันในร่างกาย)
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบยกตัวอย่างให้เห็นก็คือ เมื่อนาย Richard นำปลาขึ้นมาจากความลึก 200 ฟุตหรือ 60เมตร การหยุดขั้นแรกตามตารางการหยุดเพื่อลดแรงกดดันน้ำ (Decompression Table) คืออยู่ราวๆ 50 ฟุตหรือ 15 เมตร แต่นาย Richard จะต้องลดแรงกดดันน้ำในตัวปลาที่ความลึก 125 ฟุตหรือ 37 เมตรก่อน โดยจะใช้เวลา 2-3 นาทีที่ความลึกนั้น
ทีนี้เราลองคิดตาม … เวลาเก็บตัวอย่างปลาได้ แทนที่นาย Richard จะเริ่มหยุดทำการลดความดันที่ 50 ฟุตหรือ 15 เมตร กลับต้องหยุดที่ความลึก 125 ฟุตหรือ 37 เมตรสัก 2-3 นาที ก่อน ซึ่งตามหลักการที่ว่าด้วยการดูดซึมก๊าซเข้าสู่หลอดเลือดและเนื้อเยื่อแล้ว (ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กับ Dive Computer ทุกวันนี้) ก็จะหมายความว่า การที่นาย Richard หยุดเพิ่มอีก 2-3 นาที ที่ความลึก 125 ฟุตหรือ 37 เมตร แทนที่จะระบายไนโตรเจนออก เค้าได้เพิ่มปริมาณไนโตรเจนเข้าไปอีก (ย้ำว่าตามหลักการคำนวณ) ซึ่งก็หมายความว่า การกระทำแบบนี้น่าจะเพิ่มปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากแรงกดดันขึ้นไปอีก
หลังจากสรุปหาความสัมพันธ์ได้จากไดฟ์เก็บตัวอย่างปลากับอาการเหนื่อยและง่วงซึมที่ลดลง นาย Richard จึงเริ่มทำ Deep Stop (ขอเรียกการหยุดที่ความลึกที่เกินกว่าตารางคำนวณออกมาว่า Deep Stop หรือ แปลเป็นไทยว่า การพักน้ำแบบลึกกว่ากำหนด) ทุกครั้งไม่ว่าจับปลาได้หรือจับปลาไม่ได้ และลองเดาสิว่าผลเป็นยังไง … ทุกครั้งที่ทำ Deep Stop อาการเหนื่อยและเพลียหายไปหมด นาย Richard ยังบอกว่า เค้าสามารถไปดำน้ำลึกๆ ได้ในตอนเช้า แล้วกลับมาทำงานตอนบ่ายถึงเย็นจนเสร็จได้ในวันเดียว และหลังจากทำ Deep Stop มาเป็นปีๆ นาย Richard ก็เชื่อว่า การทำ Deep Stop สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากการลดความกดดัน (DCS) ได้
และในบทความนี้ก็มีเขียนถึงเหตุผลทางสรีระวิทยาว่า ทำไมทำ Deep Stop แล้วถึงไม่เป็น DCS ซึ่งก็เป็นเรื่องลึกซึ้งและยากเกินกว่าที่ฉันจะอธิบายออกมาได้ ใครอยากรู้ว่าทำไม ก็ขอเชิญเข้าไปอ่านต่อได้ในนี้ http://www.diveright-coron.com/deepstop.htm
วิธีการคำนวณ Deep Stop และการทำ Deep Stop
ขอสรุปวิธีการคำนวณ Deep Stop และการทำ Deep Stop ดังนี้
- Deep Stop แรกที่ทำคือ 50% ของความลึกสูงสุด … ยกตัวอย่าง หากไดฟ์นี้เราดำน้ำลึกสุด 30 เมตร ฉะนั้น Deep Stop แรก คือ 50% ของ 30 = 15 เมตร เป็นเวลา 1 นาที
หลักการที่สำคัญสำหรับ Deep Stop คือ อย่าอยู่นานเกินที่กำหนด (1 นาที) เพราะนั่นหมายถึงว่า เราได้ระบายฟองอากาศที่ความลึก 30 เมตรออก แต่เราได้นำฟองอากาศที่ 15 เมตรเข้าไปด้วย - จากนั้นให้ทำ Stop 1 นาทีทุกๆ 3 เมตร (หรือที่หาร 3 ลงตัว) … จากตัวอย่างข้อที่หนึ่ง Stop ต่อๆมาคือ
- 12 เมตร = 1 นาที
- 9 เมตร = 1 นาที
- 6 เมตร = 3 นาที (Safety Stop)
- 3 เมตร = 1 นาที Stop และ 1 นาที เพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ
หลังจากที่ Team Teen Diving และ Sunday Divers ของเราได้ทำ Deep Stop ทุก Dive หลังจากที่ได้อ่านพบบทความนี้ จำนวนไดฟ์คร่าวๆที่ได้ทำ Deep Stop มีไม่ต่ำกว่า 200-300 ไดฟ์ พวกเราได้พบว่า ขณะที่พักน้ำอยู่ระหว่างไดฟ์ พวกเรารู้สึกดีขึ้น ไม่เหนื่อย ไม่เพลีย เหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะตัวฉันเอง ที่ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อขับรถไปดำน้ำที่สัตหีบ ฉันพบว่า เมื่อฉันทำ Deep Stop ฉันไม่ง่วงและไม่ต้องนอนตอนกลางวัน และยังสามารถขับรถกลับบ้านได้อย่างสบายๆ ในวันเดียวกัน ความรู้สึกเหนื่อยหรือเพลียนั้น น้อยกว่าแต่ก่อนมาก
* * *
ขอเพิ่มเติมความรู้จากครู Marlin ไว้ด้วยกันเลยนะคะ
เพิ่มเติมอีกนิดจากที่เคยอ่านมา รวมทั้งที่น้องทีนแนะนำให้อ่าน เขาว่ากันว่าการทำ Deep Stop นั้น ถึงแม้จะต้องจ่ายด้วยการมีไนโตรเจนสะสมเพิ่มกว่าที่ควรจะเป็น (หากคำนวนตามหลักคณิตศาสตร์) และทำให้เราต้องมีเวลา NDL น้อยลง แต่สำหรับหลักทางสรีรวิทยาแล้ว ว่ากันว่าจะทำให้การระบายฟองอากาศขนาดจิ๋ว (Micro Bubble) ง่ายและมากขึ้นครับ
ลองนึกภาพของฟองอากาศเล็กๆ ที่เกิดขึ้นขณะที่เราดำน้ำ ถึงแม้จะเป็นฟองอากาศที่ไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่ก็เป็นฟองอากาศที่ต้องระบายออกจากร่างกาย เมื่อเราอยู่ที่ความลึกนั้น ฟองเหล่านี้ก็จะเล็กมากจนออกจากร่างกายได้อย่างง่ายดาย แต่หากเราไม่หยุดให้มันระบายออกสักระยะหนึ่ง (เช่นสักสองนาที) มันก็จะระบายออกช้าลง และบางส่วนหลงเหลืออยู่ในร่างกายของเราจนเราขึ้นมาถึงจุด Safety Stop (ห้าเมตร) ตอนนั้นก็จะมีฟองขนาดใหญ่ขึ้นหน่อยหนึ่งอยู่จำนวนมากที่จะแย่งกันออกจากร่างกายเรา
การทำ Deep Stop จึงเป็นเทคนิคที่ทำให้ฟองอากาศเล็กๆ ออกไปจากร่างกายเราก่อนที่จะถึงจุดที่เราทำ Safety Stop (หรือ Deco Stop ของ Technical Divers) นั่นเองครับ คนที่ไม่ทำ Deep Stop จึงอาจมี Silent Bubble ตกค้างอยู่ในร่างกายมาก และทำให้เกิดอาการเหนื่อย เพลีย ง่วงเหงาหาวนอน หลังจากการดำน้ำมากหน่อย
เนื่องจากเป็นเทคนิคใหม่ ก็เลยยังมีการถกเถียงกันเยอะในหมู่นักวิชาการเกี่ยวกับการดำน้ำ ก็เลยต้องทดลองกับตัวเองดูก่อนก็แล้วกันครับ ไดว์ไหนที่ดำลึกและมีระยะทางจากความลึกระดับสุดท้ายห่างจาก Safety Stop มากๆ ลองทำ Deep Stop ดูแบบที่น้องทีนแนะนำ เปรียบเทียบกันกับวันที่ไม่ทำดูซิ ว่าความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร
เท่าที่ผมทำมา ก็รู้สึกมากเหมือนกันว่ามันสดชื่นกว่าเดิม แต่ไม่ทราบว่าเป็นอุปาทานหรือเปล่านะครับ
* * *
เรียบเรียงโดย | น้อง Teen |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 8 มิ.ย. 2547 |
ปรับปรุงแก้ไข | 4 พ.ค. 2564 |
อ้างอิงจาก | The Importance of Deep Safety Stop: Rethinking Ascent Patterns From Decompression Dives ของ Richard L. Pyle (An abridged version of this article was originally in DeepTech, 5:64; and the full version subsequently published in Cave Diving Group Newsletter, 121:2-5.) |