แชร์ประสบการณ์เกือบตายจาก Decompression Sickness (DCS) หรือ โรคน้ำหนีบ

ให้อ่านและอย่าทำตามโดยเด็ดขาด

จากโพสก่อนหน้า(บ้านหมุนใต้น้ำ) : ได้ไปหาหมอมาทั้งหมด 3 รพ.แล้ว การวินิจฉัยส่วนใหญ่ คือ จะเป็นเกี่ยวกับหู มีหลายคนอินบ๊อกซ์มา หลายคนมากบอกว่าแนะนำให้เราเข้ารพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าโดยด่วนที่สุด โดยเฉพาะคุณนัท ที่โทรมาอธิบายว่าเคยเป็นเหมือนกัน แต่อาการแสดงน้อยกว่าเรา อยากให้รีบไปตรวจและได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด จึงรีบไปตอนเย็นวันนั้นเลย

พอถึงรพ.แจ้งว่าดำน้ำมา เค้าจะนำตัวเราเข้าสู่ห้อง ICU ให้ Oxygen โดยทันที มีการซักประวัติเยอะมากกก
(ถ้าเอาไดฟ์คอมมาจะดีมาก) ทดสอบเบื้องต้นเรื่องการทรงตัว ประสาทสัมผัส มีเอ็กซเรย์ปอด, EKG วัดคลื่นหัวใจ, วัดชีพจร, ตรวจเลือด CBC แต่กรีนจะมีปัญหาเรื่องความดันสูง (ปกติจะไม่เป็น) หมอเลยแจ้งว่าต้องให้เราเข้าห้องแชมเบอร์ หรือ ห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber)

ระหว่างการตรวจคุยกับคุณหมอ คุณหมอขอดู dive computer แต่เราบอกว่าไม่มี คุณหมอบอกไดฟ์คอมสำคัญต่อชีวิตมากเลยนะ เพราะมันจะเตือนเราทุกๆ อย่าง หลังจากนี้สอยแล้วค่ะ เข็ดมากๆๆๆๆๆๆ

Dive Computer = ชีวิต

ก่อนเข้าห้อง

ก็จะมีทำแบบทดสอบความจำ ก่อนเข้าห้อง ถอดเครื่องประดับทุกชนิด สาวๆ แนะนำใส่ sport bra จะได้ไม่ต้อง no-bra นะคะ คอนแทคเลนส์สายตาสามารถใส่เข้าไปเฉพาะชนิด soft lens ของมีค่าแนะนำไว้ในรถ หรือ ไม่ควรเอามานะคะ ถ้ามาคนเดียว สามารถนำน้ำเปล่าเข้ามาจิบได้ค่ะ ใครติดมือถืองดเล่นยาวๆ ค่ะ ได้ใช้ชีวิตในยุค 90

บรรยากาศในห้อง

ครั้งที่ 1 (6 ชั่วโมง นิดๆ)

เย็นสบายตามราคา เป็นเตียงผู้ป่วย มีจอทีวีให้ดู เลือกหนังได้ค่ะ แต่เจ้าหน้าที่จะกดรีโมทให้นะคะ

ตอนแรกจะมีการปรับระดับอยู่ที่ความลึก 60 ฟุต ภายใน 3 นาที ใครเคลียร์หูยากอาจจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่นิดนึงนะคะ แต่กรีนเคลียร์หูง่ายผ่านไปด้วยดี

หลังจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนมีการพัก 5 นาทีบ้าง 15 นาทีบ้าง โดยคุณหมอจะคอยสังเกตอาการเราอยู่เรื่อยๆ ค่ะ

*ส่วนตัวนะคะ อยู่ดีๆ รู้สึกอึดอัด แพนิคหน่อยตอนท้ายๆ แล้วแต่คนนะคะ ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันทีค่ะ

ปล.ในห้องมีห้องน้ำนะคะ

หลังจากการทำครั้งที่ 1 เหมือนวิ้งๆ เล็กน้อย สิวผุดขึ้นมาเต็มเลยค่ะ 555+ บางคนบอกหน้าใส แล้วแต่คนเลยค่ะ โดยรวมอาการดีขึ้นแต่ยังไม่ 100% มีการทำแบบทดสอบครั้งแรกอีกครั้ง ได้เต็มค่ะ ตอนแรกได้ไม่เต็ม

ครั้งที่ 2 (5 ชม. 45 นาที)

ระหว่างการทำวันนี้ เริ่มมีปัญหาเคลียร์หูไม่ออกบ้างนิดหน่อย แต่ที่พีคสุดของวันนี้ คือ อาการหวิวๆ เหมือนจะเป็นลม ไม่มีแรง เวียนหัวมาก (ไม่เหมือนปวดหัว) เลยแจ้งเจ้าหน้าที่ในห้องค่ะ เค้าเลยวัดความดัน ความดันคือขึ้นสูงมาก (ตั้งแต่ติดดีคอมมา ความดันสูงมาโดยตลอด) เป็นอยู่ 3-4 ครั้ง หายใจไม่เต็มปอด

หลังจากการทำครั้งที่ 2 เหมือนไม่ค่อยมีแรง มือที่ชาเริ่มหายไปเยอะมากๆ จากก่อนเข้า ยังมีปัญหาเรื่องแน่นหน้าอก

ค่าใช้จ่าย (อยากให้อ่าน)

การเข้าห้องแชมเบอร์ แบบ Monoplace คือนอนเป็นเตียงห้องเดี่ยว จะอยู่ที่ชั่วโมงละ 18,000 บาท
(รวมๆ ตอนนี้เกือบ 2 แสนนิดๆ) แต่ถ้าใครมีประกันดำน้ำ สามารถใช้บริการได้เลยนะคะ

ส่วนใครที่ไม่มี สามารถใช้สิทธิ์บัตรทองได้ ต้องทำการยื่นเรื่องหน่อยนะคะ แต่พีคสุดของกรีนคือการใช้สิทธิ์ประกันสังคม ยื่นเรื่องยากมากกกกกกก เพราะวันที่กรีนไปยื่น เราจะต้องเข้าไปตรวจกับหมอ หู คอ จมูก แต่หมอส่งให้หมอระบบประสาทต่อ (ระหว่างที่นี่รอไป 8 ชั่วโมงเต็ม) โดยไม่รู้ว่าหมอจะส่งต่อหรือไม่ เพราะว่าคุณหมอบางท่านไม่รู้อาการของโรคนี้ จนเราต้องโวยวาย บีบเจ้าหน้าที่ให้ส่งเรื่องต่อโดยเร็วที่สุด เพราะกรีนต้องเข้าห้องแชมเบอร์ครั้งที่ 2 แต่เดชะบุญความเหวี่ยงของพวกเราเป็นผล จน ผอ.โรงพยาบาลต้นสังกัดยอมเซ็น แต่อนุมัติแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าเราจะรักษาต่อต้องมายื่นเรื่องใหม่อีก เอาเป็นว่าสิทธิ์ของเราจ่ายไปแต่ละเดือนแล้ว เอาสิทธิ์ตรงนี้มาใช้ด้วยนะคะ

สาเหตุที่ทำให้เกิด Decompression Sickness (ของกรีน)

1. yo-yo diving : ดำขึ้นๆ ลงๆ หลายครั้ง
2. shoot ขึ้นจากใต้น้ำ โดยไม่ได้ทำ safety stop เพราะคุม buoyancy ไม่ได้ ตอนวิงเวียน บ้านหมุนใต้น้ำ
3. ไม่เคลียร์หู ไม่หายใจ (ติดมาจากฟรีไดฟ์)
4. ขึ้นเครื่องบินก่อน 18 ชม. หลังจากดำน้ำ
5. พักน้ำระหว่างไดฟ์น้อยเกินไป
6. ดำน้ำต่อวันเยอะเกินไป

อาการที่เกิดขึ้น (ของกรีน)

1. บ้านหมุน เวียนศีรษะ มีอาการหึ่งๆ ในหู
2. ชาปลายมือ ปลายเท้า
3. มีอาการเกร็ง เดินเซ
4. แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
5. ปวดตามข้อ ยืน หรือ เดิน ตัวตรงไม่ได้
6. อาการจ้ำ คัน ผิวเหมือนลายหินอ่อน
7. ชัก พูดคุยไม่ได้
8. ไอ ปนเลือด

ตอนนี้คุณหมอวินิจฉัยกรีนมาแล้วนะคะ ว่าเป็น Decompression Sickness Type II (จริงๆ หมอพูดว่าโชคดีที่ไม่ตาย) เพราะอาการที่เราเป็นบนเรือค่อนข้างรุนแรงมากๆ แต่ตอนนั้นทุกคนคิดว่าเมาเรือเฉยๆ หลังจากนี้กรีนต้องเข้าไปตรวจเรื่อยๆ เช็คหูและระบบประสาท พักการดำน้ำอย่างน้อย 1 เดือน ถ้าจะให้ดี 3 เดือน รวมถึงการว่ายน้ำด้วยค่ะ

หลังจากนี้คุณหมอให้เปลี่ยนพฤติกรรมในการดำน้ำใหม่ทั้งหมด เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากความซ่าของตัวเองทั้งหมด บอกเลยค่ะว่าหงอย!!! ทุกคนอย่าลืมดำน้ำตามกฎและตารางทุกครั้งนะคะ เพราะถ้าเป็นแล้วจะง่ายต่อการเกิดขึ้นอีก แถมยังต้องเข้าออกโรงพยาบาลมากกว่าที่ทำงานซะอีกค่ะ

ขอบคุณคุณหมอทุกท่านจาก ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง

ลิงก์ต้นเรื่อง:Facebook.com/เที่ยวไม่พัก กับ imgreenjourney