อธิบายได้ด้วย ตำแหน่งทางกายวิภาคของช่องหูชั้นกลาง (middle ear) กับท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ครับ
ในท่านั่งหรือยืนปกติ หูชั้นกลางจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าช่องเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน ที่มีปลายเปิดอยู่ในลำคอ (ท่อยูสเตเชี่ยน มีปลายเปิดสองด้าน ด้านหนึ่งอยู่ที่ในลำคอ ส่วนอีกด้านอยู่ในช่องหูชั้นกลาง — ดูภาพประกอบ)
เมื่อมีการดำลงสู่ใต้น้ำ ในท่าศีรษะตั้งตรงและเอาปลายเท้าลงนำก่อน (feet-first) เมื่อเราปรับความดันในช่องหูด้วย valsava technic (หรือจะด้วยวิธีอื่นเช่น Toynbee maneuver) แรงดันจะวิ่งจากปลายเปิดในลำคอไปยังปลายเปิดในหูชั้นกลาง (ลำคออยู่ในตำแหน่งที่มีความลึกของน้ำ มากกว่าหูชั้นกลางที่อยู่ในตำแหน่งตื้นกว่า) การปรับความดันในช่องหูชั้นกลาง จึงเป็นไปได้โดยง่าย
แต่เมื่อมีการดำลงโดยใช้ศีรษะเป็นส่วนนำ (head-first) ตำแหน่งของหูชั้นกลางจะลงไปอยู่ในระดับที่มีความลึกมากกว่าปลายเปิดของท่อยูสเตเชี่ยนในลำคอ เมื่อมีการปรับความดัน แรงดันยังคงต้องมีทิศทางการวิ่งเช่นเดิม คือจากในลำคอไปสู่ในช่องหูส่วนกลาง แต่ในท่าการดำแบบนี้ ความดันบรรยากาศในหูชั้นกลางจะสูงกว่าความดันบรรยากาศทางด้านในลำคอมาก (เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่มีระดับความลึกของน้ำมากกว่า) ดังนั้น นักดำน้ำจึงต้องเพิ่มแรงในการเป่าลมมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อที่จะเพิ่มดันอากาศในลำคอไปสู่ในช่องหูที่มีแรงดันและแรงต้านมากกว่า ทำให้การปรับความดันในหูในท่าการดำแบบนี้ ทำได้ยากกว่าหรือทำไม่สำเร็จ และจะนำไปสู่การบาดเจ็บจากแรงดันได้
เขียนโดย | หมอเอ๋ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 27 ธ.ค. 2554 |