ภาวะขาดน้ำในร่างกาย โดยปกตินั้นเกิดขึ้นในมนุษย์ทุกคน ที่ลงไปแช่อยู่ในน้ำ ไปว่ายน้ำ หรือไปดำน้ำครับ เหตุผลก็ตามหลักสรีระวิทยาใต้น้ำที่เราทราบกันว่า เมื่อร่างกายแช่อยู่ในน้ำ เราจะสูญเสียความร้อนผ่านทางผิวหนังด้วยกลไกการพาความร้อน (convection) ซึ่งเราจะสูญเสียความร้อนได้เร็วกว่าเมื่อเราอยู่บนบกที่อุณหภูมิเดียวกันถึง 20 เท่า ดังนั้นกลไกป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกายเราก็คือ หลอดเลือดที่ผิวหนังของเรา (โดยเฉพาะที่แขนขา) จะหดตัว (peripheral vaso-constriction) เพื่อให้มีการไหลเวียนเลือดซึ่งจะนำพาความร้อนไปสูญเสียให้กับน้ำที่บริเวณผิวหนังนั้นลดลง
แต่ทั้งนี้เลือดในร่างกายจะถูกส่งไปยังอวัยวะภายในที่สำคัญแทนเช่น หัวใจ สมอง ไต เป็นต้น และด้วยการที่มีเลือดไหลผ่านไตมากขึ้น จึงเกิดกระบวนการกรองที่ไตสูงขึ้น มีการผลิตปัสสาวะเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงสูญเสียน้ำในร่างกายไปอยู่ในรูปของปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น (เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงปวดปัสสาวะเวลาว่ายน้ำในสระหรือแช่น้ำนานๆ เชื่อว่าตอนเด็กๆ ทุกคนคงเคยแอบปัสสาวะในสระว่ายน้ำนะครับ 55555) จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะขาดน้ำในร่างกายเมื่อเราแช่อยู่ในน้ำนานๆ หากภาวะนี้รุนแรง มีการขาดน้ำนานๆ และในปริมาณมาก จะส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ความเข้มข้นของเลือดจะสูงขึ้น ความหนืดมากขึ้น เลือดไหลเวียนได้ช้าลง …
ดังนั้น การปลดปล่อยก๊าซในร่างกายจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้ามาสู่เลือดจึงเป็นไปได้ช้าและยากขึ้น เป็นเหตุในมีการสะสมของก๊าซ (ไนโตรเจน) มากกว่าปกติ จนเป็นเหตุนำไปสู่การเกิด DCS ได้ครับ
การป้องกัน
สามารถป้องกันภาวะนี้ได้ไม่ยากครับ คือการดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งก่อนและหลังดำน้ำ สังเกตง่ายๆ คือดื่มน้ำจนกว่าจะปัสสาวะออกมา ถือว่าเพียงพอครับ และให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ เพราะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ รวมไปถึงการทานยากลุ่มยาขับป้สสาวะ เพราะจะทำให้การขาดน้ำรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้หากมีการเจ็บป่วยก่อนหรือขณะดำน้ำบางอย่างเช่น เมาคลื่น ท้องเสีย ก็สมควรได้รับการดูแลเรื่องปริมาณน้ำในร่างกาย เป็นพิเศษครับ
เขียนโดย | หมอเอ๋ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 20 ก.ค. 2554 |