โรคหอบหืด กับ ความเสี่ยงในการดำน้ำ

โรคหอบหืดนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการตัดสินใจที่จะเริ่มเรียนดำน้ำ ในกฏเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นนักปฏิบัติการใต้น้ำของทางราชการนั้น หากพบว่า มีประวัติเจ็บป่วยเป็นโรคหอบหืด จะถือว่าขาดคุณสมบัติในทันที แต่สำหรับการดำน้ำแบบสันทนาการ หรือการดำน้ำเพื่อการกีฬาในภาคพลเรือน ก่อนจะกรอกใบสมัครเข้าเรียนดำน้ำ จะมีคำถามที่ให้ผู้เรียนตอบว่า ท่านมีประวัตการเจ็บป่วยด้วยโรคหอบหืดหรือไม่ ซึ่งผู้กรอกอาจกรอกตามความเป็นจริงหรือปกปิดข้อมูลการเจ็บป่วยนั้นได้ แต่หากครูผู้สอนมีความสงสัยก็อาจส่งตัวมาให้แพทย์ทำการตรวจยืนยัน และออกใบรับรองแพทย์ก่อนทำการเรียนได้ครับ ทีนี้ หอบหืดนั้นไม่สมควรจะดำน้ำในทุกกรณีจริงหรือไม่ เราจะมาพูดคุยกันในประเด็นนี้นะครับ

พยาธิสภาพของโรคหอบหืดที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการดำน้ำ

มีอยู่สองประเด็นหลักๆ ดังนี้ครับ

1) เมื่อนักดำน้ำลงไปอยู่ใต้ผิวน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของการดำน้ำตามปกตินั้น ความจุปอดจะลดลงโดยอิทธิพลของแรงกดบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น และความหนาแน่นของอากาศที่ใช้หายใจก็จะสูงขึ้นตามแรงกดบรรยากาศที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นในผู้ป่วยหอบหืด หากเกิดอาการในขณะอยู่ใต้น้ำ การตีบของหลอดลมเล็กๆ ในปอดก็จะยิ่งทำให้ปริมาณอากาศที่จะใช้ยิ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และจะรุนแรงมากไปอีกหากร่างกายต้องมีการออกกำลังมากๆใต้น้ำ เช่นการออกแรงเตะขาเพื่อสู้กับกระแสน้ำ

2) การตีบและหดตัวของหลอดลมเล็กๆ ในปอด ประกอบกับการมีเสมหะหรือสารคัดหลั่งในหลอดลมเล็กๆ จะทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ และทำให้อากาศถูกขังค้างอยู่ในถุงลม … เมื่อมีการเปลี่ยนความลึกไปยังจุดที่มีความลึกน้อยลง ความกดบรรยากาศที่ลดลงจะทำให้ปริมาตรอากาศที่ถูกขังไว้ขยายตัวขึ้นและไม่มีทางระบายออกไปได้ จะนำไปสู่การฉีกขาดของถุงลม หรือหากรุนแรงมากก็จะทำให้เยื่อหุ้มปอดฉีกขาด และเกิดฟองอากาศไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ครับ

ผู้ป่วยหอบหืดที่ดำน้ำได้

เมื่อเข้าใจถึงพยาธิสภาพของโรคหอบหืดที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการดำน้ำแล้ว เราก็มาดูกันเลยนะครับว่า ผู้ป่วยหอบหืด กลุ่มใดบ้างที่ “ไม่ควรดำน้ำอย่างเด็ดขาด” และ กลุ่มใดที่พอจะยอมให้ทำการดำน้ำได้ แบ่งได้เป็นกลุ่มคร่าวๆ ตามนี้ครับ

กลุ่มที่ 1

1) อาการหอบหืดที่ยังเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
2) อาการหอบหืดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา
3) อาการหอบหืดที่จะแสดงอาการเมื่อถูกกระตุ้นโดย การออกกำลัง, การสัมผัสอากาศเย็น, หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
4) อาการหอบหืดที่ไม่เกิดอาการสม่ำเสมอ แต่เมื่อมีอาการแล้วจะเป็นอย่างรุนแรง ต้องอาศัยยาพ่นหรือยาฉีดในการควบคุมอาการ
หากมีข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น “ไม่ควรดำน้ำอย่างเด็ดขาด” ครับ เพราะอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตของท่านเอง และแก่บัดดี้ของท่านได้

กลุ่มที่ 2

2.1) ในผู้ป่วยบางกลุ่ม อาการหอบหืด มักไม่ได้เป็นตลอดเวลา อาจจะเป็นๆ หายๆ เช่น บางคนจะเกิดอาการเฉพาะตอนที่มีการเป็นหวัด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจที่เป็นมาซักระยะนึงแล้วอาการติดเชื้อยังไม่ดีขึ้นเช่น สองสามสัปดาห์ จากนั้นจึงมีอาการหอบหืดเกิดขึ้นให้เห็น หรืออาการหอบหืดที่เกิดเฉพาะบางช่วงของปีหรือฤดูกาล (อาจสัมพันธ์กับละอองเกสรของพืชบางชนิดที่มีมากในอากาศในบางฤดูกาล) ในกรณีนี้นั้น …. หากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทำการดำน้ำ จะต้องได้รับการรักษาให้หายสนิทปราศจากอาการหอบหืดก่อนการลงดำน้ำทุกครั้ง และมีแพทย์เป็นผู้ประเมินแและให้การรับรองก่อนการลงดำน้ำทุกครั้งเช่นกัน

2.2) สำหรับคนที่เป็นหอบหืดที่ไม่แสดงอาการบ่อย, ไม่มีอาการรุนแรง สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรับประทานยา ไม่ต้องใช้ยาพ่นหรือยาฉีดเพื่อควบคุมอาการ และผลตรวจคัดกรองความจุปอดก่อนทำการดำน้ำเป็นปกติ และเมื่อทดสอบให้ออกกำลังกายแล้วไม่พบอาการหอบหืด ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจได้รับการพิจารณาให้ทำการดำน้ำได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นหอบหืดแต่ได้รับการพิจารณาว่าสามารถดำน้ำได้ ก็ควรจะต้องระลึกไว้เสมอว่า การดำน้ำโดยที่มีโรคประจำตัวหรือมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคหอบหืดนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการดำน้ำเช่น Pulmonary Baro-Trauma (การบาดเจ็บจากแรงดันที่ทำให้ถุงลมในปอดฉีกขาด หรืออาจรุนแรงจนเยื่อหุ้มปอดฉีกขาด), Cerebral Arterial Gas Embolism (การที่มีฟองอากาศเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดแดงของสมอง) โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทั้งสองสูงกว่าคนปกติทั่วไปถึง 4 เท่า และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการดำน้ำก็สูงกว่านักดำน้ำปกติทั่วไปเช่นกัน

ดังนั้นก่อนจะทำการเรียนดำน้ำ หรือจะไปดำน้ำ (ในกรณีที่ท่านเป็นนักดำน้ำที่ผ่านการอบรมแล้ว) การให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อโรงเรียนดำน้ำ, ผู้ควบคุมการดำน้ำ, บัดดี้ของท่าน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง และผู้ที่ดำน้ำร่วมกับท่าน และหากท่านไม่แน่ใจเรื่อง สภาพความเจ็บป่วยของท่านที่เป็นหอบหืดอยู่ ว่าสามารถจะทำการดำน้ำได้หรือไม่ ก็ควรจะรีบไปขอคำปรึกษากับแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำโดยตรง เพื่อจะได้รับการประเมินและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไปครับ

เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก6 ก.ย. 2554