ปัญหาสำคัญของสาวๆ นักดำน้ำทั้งหลาย คือ มีประจำเดือนในช่วงที่ไปดำน้ำพอดี คำถามคือ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
1) การกินยาฮอร์โมนเลื่อนประจำเดือน สามารถทำได้ แต่ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำเรื่องตัวยา และ การทานในระยะเวลาและขนาดที่เหมาะสม … ทั้งนี้ ควรเป็นยาชนิดที่ฮอร์โมนต่ำและมีผลข้างเคียงเช่น อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ที่น้อยที่สุด เพื่อจะได้ไม่รบกวนการดำน้ำ
2) หากมีประจำเดือนในช่วงที่ไปดำน้ำจริงๆ หากมีอาการ ปวดท้องน้อย ปวดศีรษะ หรือ ปวดหลัง ที่รุนแรงมาก … อาจงดการดำน้ำไปก่อนจนกว่าอาการดังกล่าวจะได้รับการควบคุมจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำน้ำ เพราะอาการดังกล่าว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการดำน้ำ และยังอาจทำให้เกิดการสับสนหากเกิดโรคจากการดำน้ำเช่น Decompression Sickness หรือ Cerebral Arterial Gas Embolism เพราะไม่สามารถแยกได้ว่า อาการผิดปกติ อาการปวดต่างๆ มาจากสาเหตุใดแน่
3) ระหว่างมีประจำเดือน ฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน จะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายมีลักษณะคล้ายบวมน้ำ อาจทำให้มีการบวมของเยื่อบุผิวต่างๆ โดยเฉพาะท่อยูสเตเชี่ยน ดังนั้น จึงอาจทำให้การปรับความดันในหูชั้นกลางขณะดำลงและดำขึ้น (การเคลียร์หู – equalization) อาจจะยากลำบากขึ้น
4) เลือดที่ออกจากการมีประจำเดือนนั้น ต่างจากเลือดออกจากร่างกายเวลาที่มีบาดแผล เพราะมีลักษณะ เป็น hemolysis blood ซึ่งพบว่า ไม่น่าจะดึงดูดความสนใจของฉลาม ให้เข้ามาทำร้ายนักดำน้ำในกรณีนี้ และในความเป็นจริง การถูกฉลามจู่โจมนั้นก็มีอัตราการเกิดที่ต่ำมากอยู่แล้ว (ในไทย มีรายงานล่าสุดแค่ 1 ครั้งและก็เป็นครั้งเดียวด้วยที่จู่โจมจนถึงแก่ชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2000) และก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างการมีประจำเดือนกับการถูกฉลามทำร้าย ดังนั้น การดำน้ำระหว่างมีประจำเดือน จึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฉลามกัดแต่ประการใด
5) ในทางการบิน นั้นมีการศึกษาและวิจัยจนพบว่าการทำการบินระหว่างที่มีประจำเดือนนั้น ทำให้เกิดโรค Decompression Sickness (DCS) มากขึ้นกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ “แต่” ในการดำน้ำนั้น ยังไม่มีการทดลองและการวิจัยใดๆ ที่กระทำในเงื่อนไขของการดำน้ำระหว่างมีประจำเดือน ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สามารถจะกล่าวได้ว่า การดำน้ำระหว่างมีประจำเดือนนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการเกิด Decompression Sickness ที่สูงขึ้น แต่หากจะเทียบเคียงกับข้อมูลที่ใด้จากการเกิดโรคในทางการบิน … จึงมีข้อแนะนำว่า นักดำน้ำที่ดำน้ำระหว่างมีประจำเดือน อาจจะดำน้ำในลักษณะที่ “more conservative” เช่น ดำด้วยความลึกที่ไม่มาก, เวลาที่ใช้ดำแต่ละครั้งนั้นสั้นกว่าปกติที่เคยดำ, จำนวนครั้งที่จะดำ ต่อวัน ต่อทริป อาจจะลดลงกว่าปกติ ซึ่งหากปฏิบัติเช่นนี้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิด DCS ลงได้ครับ
6) หากมีการใช้ยาระงับอาการปวด กลุ่ม NSAID (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) เพื่อระงับอาการปวดท้องจากการมีประจำเดือน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานๆ อาจมีความเสี่ยงเรื่องการแข็งตัวของเลือดที่ช้ากว่าปกติ ในกรณีที่หากนักดำน้ำท่านนั้น มีการบาดเจ็บจากแรงดันในหูชั้นกลาง อาจทำให้อาการนั้นรุนแรงกว่าปกติ และอาจมีเลือดออกในหูชั้นกลางได้ นอกจากนี้ หากเกิดโรค DCS ขึ้น ฤทธิ์แก้ปวดของยาอาจจะบดบังอาการปวดที่เกิดจาก DCS จนทำให้การวินิจฉัยนั้นล่าช่้า และนำไปสู่การรักษาที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นครับ
เขียนโดย | หมอเอ๋ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 27 ธ.ค. 2554 |