ประกาศเพิ่มสัตว์ทะเลหายากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกฎกระทรวงฯ กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) ประกาศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2561 (มีผลบังคับใช้อีก 60 วันนับจากนี้) โดยเพิ่มสัตว์ป่าจำพวกปลา ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองอีก 12 ชนิด ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้า-ส่งออก ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

สัตว์ป่าคุ้มครองที่ประกาศเพิ่มเติมทั้ง 12 ชนิด ประกอบด้วย กลุ่มปลากระเบนราหูน้ำเค็ม 6 ชนิด คือ ปลากระเบนปีศาจคลิปโค้ง ปลากระเบนปีศาจครีปสั้น ปลากระเบนปีศาจแคระ ปลากระเบนปีศาจหางหนาม ปลากระเบนแมนต้าแนวประการัง ปลากระเบนแมนต้ายักษ์ กลุ่มปลาฉนาก 4 ชนิด คือ ปลาฉนากเขียว ปลาฉนากปากแหลม ปลาฉนากฟันเล็ก ปลาฉนากยักษ์ ปลาโรนิน 1 ชนิด คือ ปลากระเบนท้องน้ำ และปลากระเบนราหูน้ำจืด 1 ชนิด คือ ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือ ปลากระเบนเจ้าพระยา

ประกาศเพิ่มสัตว์ทะเลหายากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ข้อห้ามข้อบังคับบางประการจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่ควรทราบก็มีดังต่อไปนี้

  • สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไม่ว่าชนิดใด ห้ามล่าสัตว์ เก็บรัง ครอบครองที่ดิน แผ้วถาง หรือเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ในกรณีที่การล่าเป็นการล่าเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ
  • การห้ามการครอบครองและห้ามค้า มีผลไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย
  • ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรังของสัตว์ ยกเว้นรังนกอีแอ่น (นกแอ่นกินรัง) ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน